วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ศิลปะและดนตรีร่วมสมัยของฝรั่งเศส

ศิลปะและดนตรีร่วมสมัยของฝรั่งเศส

Impressionist Music Impressionist Music เป็นศิลปะดนตรีสไตล์หนึ่ง เฟื่องฟูและเป็นที่นิยมในวัฒนธรรมดนตรีฝรั่งเศสในช่วงปลายศตวรรษที่19 ต่อกับต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะผลงานของ Claude Debussy นักประพันธ์เพลงเอกชาวฝรั่งเศส ดนตรีชนิดนี้มีลักษณะโดยรวมที่ให้เสียงลอยๆ เบาๆ ฟุ้งฝัน ให้ความรู้สึกบรรยากาศและอารมณ์เคลิ้มกึ่งฝันกึ่งจริง ท่วงทำนอง (Melody) และจังหวะ (Rhythm) ฟังแล้วอาจจับต้องยาก ร้องตามหรือเคาะจังหวะตามไม่ได้ง่ายๆ ท่วงทำนองมักมาเป็นห้วงๆ กระจัดกระจาย ให้ไปรวมกันในความรู้สึกของผู้ฟังเอง อย่างไรก็ตามลักษณะเด่นที่ทำให้ดนตรีชนิดนี้มีเสน่ห์ชวนประทับใจและติดตรึงใจแต่แรกที่ได้ยิน ก็เห็นจะเป็นเรื่องสีสันของเสียง (Tone colour) ที่ไพเราะงดงามมาก ทั้งนี้เกิดจากการเลือกใช้บันไดเสียง คอร์ด และการเลือกใช้เครื่องดนตรีในการบรรเลงที่มีความเฉพาะตัว และผสมผสานกันเป็นสีเสียงใหม่ แปลกแหวกแนวอย่างยิ่งจากเพลงยุคคลาสสิกและโรแมนติคโดยทั่วไป
ดนตรีอิมเพรสชั่นนิสต์เป็นกระแสศิลปะดนตรีที่เกิดจากความต้องการของศิลปินฝรั่งเศสที่จะแสวงหาแนวทางใหม่ๆ ให้พ้นจากดนตรีคลาสสิก-โรแมนติคสายเยอรมัน ที่พัฒนามาเต็มที่จนกลายเป็นดนตรีสำเนียงสากลของยุโรปมานับหลายร้อยปี บรรยากาศเช่นนี้มิใช่เกิดในขึ้นกับศิลปะดนตรีเท่านั้น แต่เป็นกระแสการแสวงหาโดยรวมของศิลปินหลายๆ แขนง ทั้งจิตรกรรมและวรรณกรรมด้วย
บรรยากาศของวัฒนธรรมฝรั่งเศสในช่วงกลางถึงปลายศตวรรษที่ 19 นั้น กรุ่นไปด้วยประกายความคิดและพลังสร้างสรรค์ที่จะเสนอสิ่งใหม่ๆ ของศิลปินรุ่นใหม่ ซึ่งต่างก็ทดลองเพื่อหาภาษาศิลปะที่ทันกับยุคสมัย ความคิดและรสนิยมของผู้สร้างสรรค์และผู้เสพศิลปะในยุคนั้น เนื้อหารวมถึงเรื่องราวรวมทั้งไวยากรณ์ศิลปแขนงต่างๆ ที่เคยมีมาแต่เดิม เริ่มที่จะคับแคบและรกรุงรังด้วยกฎเกณฑ์เกินไปสำหรับศิลปินยุคนี้
เช่นเดียวกับที่จิตรกรฝรั่งเศสร่วมสมัยเดียวกันนั้น หันมาสร้างภาพในลักษณะอิมเพรสชั่นนิสต์ ไม่ว่าจะเป็น Camille Pissaro, Edouard Manet, Edgar Degars, Auguste Renoir หรือ Claude Monet อันที่จริงคำว่า Impressionist ที่ใช้ในงานจิตรกรรมและประยุกต์เรียกงานดนตรีของเดบูซี มีที่มาจากรูปเขียนของโมเนท์ที่นำออกแสดงในปี ค.ศ.1867 ที่ชื่อว่า “Impression: Sunrise"
แม้ว่างานวรรณกรรม บทกวีในแนวสัญลักษณ์นิยมและจิตรกรรมอิมเพรสชั่นนิสต์ จะแสดงออกด้วยสื่อต่างกัน แต่ก็มีความคิดพื้นฐานคล้ายกัน คือพยายามตัดทอนเนื้อหาเช่น จิตรกรก็จะวาดภาพเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่อยู่นิ่ง เคลื่อนไหวไปมาเสมอ ไม่มีตัวตนชัดเจนเช่น ภาพของกลุ่มหมอกที่กำลังลอยตัวจากผิวน้ำ หรือภาพเงาของสิ่งต่างๆ ที่สะท้อนอยู่บนพื้นน้ำที่พลิ้วไหว ภาพกลุ่มเมฆที่กำลังลอยตัวอยู่บนท้องฟ้า ส่วนกวีก็อาจแต่งบทกวีที่เนื้อเรื่องไม่มีเนื้อหาสาระชัดเจน เนื้อความที่เขียนออกมาก็ยากที่จะจับใจความได้ ปล่อยให้ผู้อ่านคิดและจินตนาการเอง
เมื่อตัดทอนเนื้อหาจนกลายเป็นความเลือนรางจนจับต้องไม่ติด ผู้อ่านผู้ดูผู้ฟังก็จะได้ไม่ยึดติดกับเนื้อหาหรือตัวภาพนั้นจนเกินไป แต่ศิลปินจะพยายามหาเทคนิควิธีการตามวิถีทางภาษาแห่งศิลปะของตน เพื่อกระตุ้นให้ผู้ดูผู้ฟังก้าวผ่านไปสัมผัสถึงส่วนละเอียดอ่อนลึกล้ำของเนื้อหาและภาพที่คลุมเคลืออยู่นั้นเช่น จิตรกรจะใช้สีสันและแสงเงามุ่งสร้างให้ผู้ดูสัมผัส ”ความเบา ล่องลอย ความไม่อยู่นิ่ง“ ของกลุ่มเมฆหมอก โดยไม่จำเป็นต้อง “เห็นเป็นภาพเมฆหมอก” อย่างชัดเจน หรือพยายามให้เราสัมผัสถึง ” ความไหวระริก“ ของประกายแดดไหวที่ระยิบอยู่บนผืนน้ำ ส่วนกวีก็พยายามที่จะเลือกเฟ้นคำที่มีเสียงอันสวยงาม ให้จินตนาการมากกว่าจะให้ความหมาย “เสียง“ ของสระพยัญชนะกลายเป็นแก่นสารมากกว่า “ความหมาย“ ของคำๆ นั้นเสียเอง
นอกจากนี้เนื้อหาที่จิตรกรหรือกวีมุ่งที่จะกล่าวถึง ก็เปลี่ยนจากเนื้อหาเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ เช่นเจ้าชายเจ้าหญิง ภาพจากเรื่องราวในประวัติศาสตร์ หรือเรื่องราวอันเป็นอุดมคติที่ยิ่งใหญ่ในความคิดของชาวตะวันตกมาเป็นเรื่องราวหรือภาพของสิ่งที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไปเช่น ภาพคนแล่นเรือท่ามกลางแสงแดดอันอบอุ่น Boating ของ Manet หรือภาพดวงอาทิตย์ขึ้นเช่น ภาพ Impression : Sunrise ของ Monet

6 ความคิดเห็น: